ประวัติความเป็นมา
เพนียด เป็นชุมชนโบราณ ที่พบหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ที่สำคัญจากจารึกภาษาขอม อายุราว พ.ศ. 800-1000 ได้กล่าวว่า บริเวณที่ตั้งโบราณสถานเพนียดนั้น เดิมเป็นที่ตั้งเมืองจันทบุรีในยุคแรก ซึ่งขอมถือเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญเมืองหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชา โดยมีเจ้าผู้ครองนครทำการปกครองอย่างเป็นอิสระ ได้มีการติดต่อกับอินเดียและรับเอาวัฒนธรรมของอินเดียเข้ามาใช้ในวิถีชีวิต เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีเรือสำเภาผ่านไปมาค้าขายกับจีน และอินเดีย ดังนั้นชาวพื้นเมืองก็คือชาวชองและชาวขอม
ลักษณะทั่วไป
สภาพพื้นที่เป็นที่ลาดเทไปสู่ที่ราบลุ่มต่ำริมลำน้ำจันทบุรี โดยมีลำน้ำคลองนารายณ์ และคลองสระบาป ไหลลงมาจากเขาสระบาป ลงไปเชื่อมกับแม่น้ำจันทบุรี เส้นทางน้ำเหล่านี้คงจะเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในอดีตอีกทั้งยังสร้างความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูกทำให้เกิดสภาพที่เหมาะสมอย่างมากในการตั้งชุมชนซึ่งน่าจะเป็นชุมชนขนาดใหญ่ สันนิษฐานจากขนาดของเมืองโบราณ และปริมาณวัตถุที่พบจำนวนมาก และหลายยุคสมัย
โบราณสถานเมืองเพนียดมีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 1,000 เมตร ยาวประมาณ 2,000 เมตร แนวกำแพงเมืองโบราณและคูน้ำเกือบทั้งหมดในปัจจุบันถูกเกลี่ยลงจนไม่สามารถสังเกตได้ เท่าที่หลงเหลืออยู่ เป็นแนวคันดินด้านทิศใต้ของเมือง มีความสูงราว 3เมตร มีความยาวราว 50 เมตร ส่วนแนวกำแพงเมืองด้านทิศเหนือเดิมถูกถนนสุขุมวิทตัดผ่านบางส่วน พื้นที่ภายในเมืองโบราณปัจจุบันเป็นบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม โดยด้านทิศตะวันออกของเมืองพื้นที่ส่วนใหญ่มีการขุดยกร่องเพื่อทำสวนผลไม้ ส่วนที่ลุ่มบริเวณด้านทิศตะวันตกเป็นพื้นที่ทำนา โดยถัดจากแนวกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกออกมาจะเป็นที่ลุ่มต่ำมากเช่นบริเวณบ้านศาลาแดง ในหน้าน้ำจะมีน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง
หลักฐานที่พบ
1. พบจารึกเพนียด 1 ขนาดกว้าง 49 ซม. สูง 47 ซม. หนา 16.5 ซม. ทำด้วยศิลาทราย จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร ปัจจุบันอยู่ที่หอพระสมุดวชิรญาณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
2. โบราณวัตถุ เป็นหินแกะสลัก เป็นรูปและลวดลายต่าง ๆ เช่น ราหูอมจันทร์ เทวรูปหรือรามสูรย์ และเศษถ้วยชามต่าง ๆ ปัจจุบันเก็บไว้ที่วัดทองทั่ว
เส้นทางเข้าสู่เมืองเพนียด
จากตัวเมืองจันทบุรีไปตามถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข 3) ประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าหมู่บ้านเพนียดและวัดทองทั่วประมาณ 1 กิโลเมตร โบราณสถานเมืองเพนียดจะอยู่ห่างจากวัดทองทั่วไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 300 เมตร