top of page
กางเต๊นท์คลับ พาเที่ยววัด

อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล

อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล (อังกฤษ: Cathedral of the Immaculate Conception) เป็นอาสนวิหารประจำมิสซังโรมันคาทอลิกจันทบุรี ตั้งอยู่บริเวณริมคลองจันทบุรี ตรงข้ามชุมชนเก่าแก่จันทบูร ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมืองจังหวัดจันทบุรี วิหารปัจจุบันนี้เป็นหลังที่ 5 ซึ่งบาทหลวงเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ ชาวฝรั่งเศส ได้ทำพิธีเสกขึ้นในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2452[2]และก่อสร้างขึ้นโดยคุณพ่อเปรีกาล เดิมวิหารติดยอดแหลมบริเวณหอระฆังทั้ง 2 หอ แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปี พ.ศ. 2483[4] ทางรัฐบาลได้มีคำสั่งให้ทำการรื้อออกด้วยเหตุผลว่าจะเป็นเป้าทิ้งระเบิดจากเครื่องบินรบ[1] จนภายหลังสงครามยุติก็ได้นำมาติดตั้งอีกครั้งในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552 วิหารแห่งนี้มีอายุรวมแล้วกว่า 108 ปี

อาสนวิหารนับเป็นวิหารที่อยู่คู่ชุมชนชาวจันทบูรมาช้านาน นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 วิหารแห่งแรกได้ถูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มชาวญวน 130 คน ที่หนีการเบียดเบียนคริสต์ศาสนิกชนในประเทศเวียดนาม เข้ามาตั้งรกรากในปี พ.ศ. 2254 โดยมีบาทหลวงเฮิ้ต โตแลนติโน เป็นผู้ดูแลกลุ่มชาวญวนเหล่านี้ และได้ทำการก่อสร้างวิหารหลังแรกขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2273-2295 ต่อมาได้เกิดเหตุไม่สงบในหมู่บ้านทำให้คริสตชนบางส่วนเดินทางออกจากหมู่บ้าน ทิ้งวิหารจนเสื่อมโทรม จนมีการสร้างวิหารใหม่เป็นหลังที่ 2 ในปี พ.ศ. 2295 โดยบาทหลวงเดอกัวนา ในสมัยคุณพ่อมัทเทียโดเป็นอธิการโบสถ์ ได้ทำการสร้างวิหารอีกครั้งเป็นหลังที่ 3 โดยได้ทำการย้ายมาตั้งในบริเวณที่ตั้งปัจจุบัน (ฝั่งตะวันออก) ในปี พ.ศ. 2377[5] ในสมัยคุณพ่อรังแฟงเป็นเจ้าอาวาสได้ทำการสร้างวิหารใหม่เป็นหลังที่ 4 ในปี พ.ศ. 2398 และวิหารหลังปัจจุบันได้ทำการสร้างขึ้นโดยคุณพ่อเปรีกาล โดยได้พิธีเสกศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2449

อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล นับเป็นหนึ่งในวิหารที่มีสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย และเป็นโบสถ์ระดับชั้นอาสนวิหารแห่งเดียวในฝั่งตะวันออกของไทย มีจุดเด่นที่เด่นชัดคือยอดแหลมบนหอระฆัง 2 หลัง ภายในวิหารมีการตกแต่งเพดานเป็นท้องเรือไม้โนอาห์ ช่องบานกระจกแบบกอทิก และกระจกงานกระจกสี นอกจากนี้ภายในยังมีแม่พระที่มีความล้ำค่า ซึ่งตกแต่งด้วยพลอยกว่า 200,000 เม็ด หรือกว่า 2 หมื่นกะรัต[6] และฐานซึ่งหล่อขึ้นด้วยเงินบริสุทธิ์ ประดับองค์ด้วยทองคำและพลอยชนิดต่างๆ[4] วิหารแห่งนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์อาคารดีเด่น ประจำปี 2542 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย[3]

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย

RECENT POSTS:
SEARCH BY TAGS:

Categories

bottom of page